Site icon Yummy Mummy Tarn .com

เล่าประสบการณ์แผ่นดินไหวบนเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น (ศูนย์กลาง : Kumamoto) 14.04.16 

ทริปล่าสุดช่วงสงกรานต์ของเรา คือ Seoul & Fukuoka กะไปรอบเดียว ขอเก็บ 2 ประเทศ

ในวันที่ 14.4.2016 เราแพลนกันว่า จะนั่งรถไฟจาก Fukuoka ไปเที่ยว Kumamoto เป็นวันที่อากาศแจ่มใส และ ค่อนข้างร้อนเลยทีเดียว เราแวะชมปราสาท Kumamoto และ ทักทาย Kumamon ซึ่งเป็นหมีโปรดของเราอย่างสนุกสนาน

จนมาถึงคืนนั้น เวลาประมาณ 21.26 น. – เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ศูนย์กลางอยู่ Kumamoto เกิดแรงสั่นสะเทือน ที่ทำให้เรา ซึ่งพักอยู่แถว Tenjin ที่ Fukuoka รู้สึกได้

แพมยังไม่นอน ยังเล่นอยู่ ก็รับรู้ได้ว่า มันสั่น! มันไม่ปกติ! คนในครอบครัว ซึ่งเราเปิดเป็นห้อง connecting room ต่างตะโกนกันว่า ‘แผ่นดินไหว’…เด็กน้อย 8 ขวบของฉัน น่าจะยังงงๆ แต่ฉันก็จูงเธอมามุดอยู่ใต้โต๊ะในโรงแรม ระหว่างที่มุด เธอก้มหน้า เอามือป้องหัวอัตโนมัติ แต่มิได้แสดงอาการกลัวมากแต่อย่างใด เธอได้แต่ถามบ้างว่า จะหยุดรึยังๆ ในใจฉัน ฉันกลับกลัวมาก เพราะตอบไม่ได้เลยจริงๆ ว่ามันจะหยุดเมื่อใด และ จะไหวแรงแบบที่เราเคยเห็นตามข่าวหรือไม่? อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?… นาทีนั้น มันช่างยาวนาน นาทีที่ต้องโอบกอดเด็กของฉัน พร้อมน้ำเสียงนิ่งๆว่า ‘หลับตานะ เดี๋ยวปวดหัว ไม่มีอะไร แป๊บเดียวๆ ไม่ต้องกลัวนะลูก’ …โดยที่ฉันปกติเป็นคนขี้กลัวมาก ในใจสั่นๆๆ และ วิตกกังวลเหลือเกิน แต่ต้องทำเป็นอย่าตกใจ เพราะ อาจจะยิ่งทำให้แพมกลัว

หลังจากทุกอย่างสงบ ไถ่ถามแพมดู แพมบอกโอเค แล้วก็มี aftershock ตามมา …หลังจากนั้น แพมเริ่มมีอาการบางอย่าง ซึ่งเรารับรู้ได้ว่า เค้าคงเริ่มเครียด และกลัวจากเหตุการณ์นี้ … แน่นอนว่าทุกคนเป็นห่วงความรู้สึกแพมมาก กลัวแพมจะเก็บไปคิด จนหวาดผวา แต่จากประสบการณ์ครั้งนี้ กลับทำให้แพมได้เห็น และ เรียนรู้มากมาย เกี่ยวกับภัยภิบัติทางธรรมชาติ และ การเตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องในชีวิตจริง
…คลิปนี้ ถ่ายหลังจากวันเกิดเหตุ 3 วัน ไร้ความกังวลใจใดๆแล้ว เพราะถึงบ้านเรียบร้อยปลอดภัย …ลองชมดูนะคะ ว่าในมุมมองของแพม กับ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เจอที่ญี่ปุ่น ..แพมในวัย 8 ขวบ จะคิด จะมีอะไรมาเล่า และ อยากแนะนำอย่างไรบ้างแก่คนอื่นๆ?


แผ่นดินไหวคิวชูครั้งนี้ น่าจะเป็นเรื่อง และ ประสบการณ์ ที่แพมคงเก็บไปเล่าได้อีกนาน
ตาล กะ แพม #YummyMummyTarn

 
———————————-

มีสาระมาฝากเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหว (อ่านบ้าง เป็นความรู้ก็ดีนะคะ)

เมื่อเกิดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวควรทำอย่างไร?

(คำแนะนำ ด้านล่างทั้งหมด ตาลขออนุญาตคัดลอกมาจากเพจของเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว เพื่อจะได้นำเสนอข้อมูลได้ถูกต้อง และ มีประโยชน์)

 

◉ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการเตรียมพร้อมในกรณีเกิดแผ่นดินไหวเป็นอย่างมาก ทุกๆ เขต/อำเภอจะจัดเตรียมสถานที่สำหรับพักอาศัยเป็นการชั่วคราวเพื่อหลบภัย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยควรติดต่อขอทราบสถานที่หลบภัยไว้ล่วงหน้า และในภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ในแต่ละท้องที่ จะประกาศให้ทราบว่าจะต้องอพยพเมื่อใด
◉ ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหวมี ดังนี้

1. อย่าตกใจจนขาดสติ คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเป็นอันดับแรก ระวังสิ่งของหล่นใส่ โดยอาจหลบอยู่ใต้โต๊ะ

2. ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าและวาล์วแก๊สที่กำลังใช้อยู่ทุกประเภท

3. เปิดประตูที่สามารถออกได้เร็วที่สุดค้างไว้ เพื่อให้แน่ใจว่ามีทางออก

4. ถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นบริเวณใกล้ตัวหรือที่สามารถเห็นได้ ให้ตะโกนว่า “คะจิดะ” (ไฟไหม้) และรีบหาทางดับไฟ

5. อย่าอยู่ใกล้รั้วหรือกำแพง และหลีกเลี่ยงเดินทางแคบ หน้าผา หรือริมฝั่งแม่น้ำ

6. ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุ และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ

7. ฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์เพื่อรับฟังข่าวที่ถูกต้อง

8. หากสถานการณ์ร้ายแรงให้เดินไปหลบภัยยังสถานที่หลบภัยที่ทางการได้จัดเตรียมไว้ และนำสิ่งของติดตัวไปให้น้อยที่สุด

 

รายละเอียดเพิ่มเติม

 

กรณีอยู่ในบ้าน หรือบริเวณอาคาร

(1) หาที่ปลอดภัยหลบ เช่น อยู่ใต้โต๊ะ

(2) หากแผ่นดินไหวมีความแรงลดลง ควรรีบปิดสวิตช์ก๊าซ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

(3) หาทางออกและรีบออกจากบริเวณอาคาร โดยนำสิ่งของจำเป็นที่เตรียมไว้ติดตัวไปด้วย

(4) หลังจากออกจากตัวอาคารให้ตั้งสติ และระวังอันตรายจากวัตถุที่อาจล้ม หรือตกลงมา

(5) รีบเดินไปยังสถานที่หลบภัย

(6) ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่ทำได้ และรับฟังข้อมูลล่าสุดทางวิทยุ และสื่ออื่นๆ

 

กรณีอยู่ในลิฟท์

(1) กดปุ่มเปิดลิฟท์ไว้ทุกชั้น

(2) พยายามหาทางออกจากลิฟท์

(3) หากไฟฟ้าดับ และไม่สามารถเปิดประตูได้ กดปุ่มฉุกเฉินไว้อย่างต่อเนื่องและรอให้มีคนติดต่อมา

กรณีอยู่ภายนอกอาคาร

(1) ระวังวัตถุต่างๆ เช่น ป้าย หรือสิ่งก่อสร้างที่อาจหล่นลงมาได้

(2) พยายามไปอยู่ในที่โล่ง หรือที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดในบริเวณใกล้เคียง

 

ขณะกำลังขับรถ

(1) จับพวงมาลัยรถให้แน่น และลดความเร็วลงอย่างช้าๆ จนรถหยุด

(2) ไม่จอดรถกีดขวางทางถนน เพื่อให้รถพยาบาลหรือรถดับเพลิงผ่านทางได้

(3) เมื่อจอดรถแล้วให้เดินไปยังที่หลบภัย โดยไม่ต้องล็อครถและทิ้งกุญแจไว้ในรถ

 

ขณะอยู่ในรถไฟ

(1) ควรจับราว หรือห่วงจับในรถไฟให้แน่น

(2) หากรถไฟหยุดกลางทาง อย่าออกจากรถไฟจนกว่าจะมีประกาศจากเจ้าหน้าที่

(3) ปฏิบัติตามคำแนะนำจากคนขับรถไฟ หรือเจ้าหน้าที่ดแผ่นดินไหวควรทำอย่างไร

 

——————————

 

>> อย่าลืมติดตามอัพเดท กับ ตาลและแพม ได้ที่http://www.facebook.com/YummyMummyTarn กินเที่ยวเล่นกับลูก
>>อ่านเรื่องทั้งหมดของ ‘ญี่ปุ่น…ไปแล้วไปอีก’ ตอนอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ https://yummymummytarn.com/category/travel/japan/

Exit mobile version